วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559

รมว.ศึกษาธิการ ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าว "คลายข้อสงสัย" คำสั่ง คสช.






หลังจากที่มีราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (อ้างจากข่าวที่ 134 : คำสั่งของ คสช. 2 ฉบับ)  ซึ่งทำให้หลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 19 (เลย-หนองบัวลำภู) รู้สึกกังวลหรือมีข้อสงสัยในหลายๆ ประเด็น

ลำดับที่ 19 ข่าวออนไลน์ : โดยเครือข่ายประชาสัมพันธ์โรงเรียน สพม.19  ในฐานะเป็นสื่อกลาง สร้างสรรค์คุณภาพการศึกษาไทย จึงขอหยิบยกประเด็นที่สื่อมวลชนมีข้อสงสัยสอบถาม พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ในวันแถลงข่าวการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มานำเสนอ....

โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเพิ่มเติม

สื่อมวลชน : จะใช้แนวทางการบริหารรูปแบบนี้ไปจนถึงเมื่อไร และหลังจากนี้หากไม่ใช้แนวทางนี้จะมีแนวทางใดมาทดแทน
รมว.ศึกษาธิการ :
 เบื้องต้นจะใช้แนวทางนี้ในช่วงรัฐบาลปัจจุบันก่อน ยังตอบไม่ได้ 100% ว่าจะใช้แนวทางนี้ไปนานเท่าไร แต่เป็นช่วงเร่งด่วนที่ต้องปฏิรูปทำให้ต้องดำเนินการแบบเร่งด่วนก่อน จึงต้องใช้มาตรา 44 ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันเวลา เพราะมาตรา 44 ไม่ได้ใช้กับทุกอย่าง ถ้ารอเป็นกฎหมายได้ก็รอได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่ง่าย เนื่องจากต้องอธิบายและหารือถึงเหตุผลในการปรับโครงสร้าง และโครงสร้างใหม่นี้จะมีส่วนในการนำไปใช้พิจารณาปรับโครงสร้างใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการด้วย โดยจะเห็นได้ว่าใน 2 คำสั่งของ คสช.นี้ ยังไม่ได้ปรับโครงสร้างในส่วนกลาง


สื่อมวลชน : เหตุผลหนึ่งที่มีการใช้คำสั่งดังกล่าว มาจากการที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ มีการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรมหรือไม่
รมว.ศึกษาธิการ :  
ใน 225 เขตพื้นที่นั้น ส่วนที่ดีก็มี ส่วนที่ไม่ดีก็มี ซึ่งไม่ปฏิเสธ ยกตัวอย่างเช่น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ มีอำนาจพิจารณาเรื่องวินัย ซึ่งในขณะนี้มีเรื่องค้างอยู่ 104 เรื่อง ในจำนวน 71 เขตพื้นที่ และเรื่องที่ค้างอยู่ใช้เวลาพิจารณานานเป็นปี และการที่ไม่ลงโทษคนผิดภายในเวลาที่เหมาะสมจะกลายเป็นการลงโทษคนดีที่เฝ้ามองอยู่ นี่คือปัญหาหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ


สื่อมวลชน : กศจ. มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายได้ทันที หรือว่าต้องส่งเรื่องมาที่ส่วนกลาง
รมว.ศึกษาธิการ :
โครงสร้างใหม่อำนาจดังกล่าวจะไปจบที่ กศจ. ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน


สื่อมวลชน : กรณีข้อห่วงใยที่ว่า หากผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้มีความสนใจด้านการศึกษา จะส่งผลกระทบต่อการบริหารงานหรือไม่
รมว.ศึกษาธิการ :
 ไม่ต้องห่วง ขอยืนยันผู้ว่าราชการจังหวัดเก่งทุกคน และมีความสนใจด้านการศึกษาแน่นอน นาทีนี้ไม่มีใครไม่สนใจเรื่องการศึกษา จึงมีความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะทำในรูปแบบของกรรมการที่มีผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการร่วมด้วย ไม่ได้ดำเนินการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงผู้เดียว


สื่อมวลชน : รูปแบบดังกล่าวเป็นการถอยหลังเข้าคลองหรือไม่
รมว.ศึกษาธิการ :
กรณีโครงสร้างเดิมที่ใช้หลักการกระจายอำนาจ หลังจากการกระจายอำนาจผ่านไป พบว่ากระทรวงศึกษาธิการมีปัญหา ไม่ได้บอกว่ากระจายอำนาจดีหรือไม่ดี แต่ในปัจจุบันพบว่ากระทรวงศึกษาธิการมีปัญหาจำนวนมาก เช่น กระทรวงศึกษาธิการถูกกล่าวโทษเมื่อเด็กนักเรียนอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ เป็นต้น โครงสร้างใหม่นี้เมื่อมองดูแล้วเหมือนย้อนกลับไปใช้ของเดิม แต่หากการเดินหน้าไปข้างหน้าแล้วไม่มีสิ่งใดดีขึ้น มีแต่แย่ลง ทำไมเราไม่ถอยมาดูว่าของเดิมเป็นอย่างไร ซึ่งการกระจายอำนาจนั้นเราจะไม่ใช้เวลาเป็นตัวกำหนด แต่จะใช้ปัจจัยในความพร้อมของแต่ละพื้นที่ว่าใครพร้อมที่จะได้รับการกระจายอำนาจก่อน ไม่ต้องรอเวลาพร้อมกัน โครงสร้างใหม่นี้ไม่ได้ทิ้งเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะอย่างน้อยก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เป็นต้น


สื่อมวลชน : แต่ละจังหวัดมีขนาดไม่เท่ากัน การดูแลจะทำได้ทั่วถึงหรือไม่
รมว.ศึกษาธิการ : สำหรับจังหวัดที่มีขนาดใหญ่จะมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่าน ซึ่งจะเป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดในการดำเนินงานต่าง ๆ อยู่แล้ว นอกจากนี้ กศจ. จะมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเข้ามาช่วยดำเนินการได้ และเป็นครั้งแรกที่จะเกี่ยวร้อย สพฐ., สอศ., กศน. และ สช. อปท. และสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา เข้ามารวมอยู่ด้วยกันในจังหวัดนั้น ๆ


สื่อมวลชน : การแต่งตั้ง กศจ. คาดว่าจะใช้เวลาเท่าไร
รมว.ศึกษาธิการ : จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด


สื่อมวลชน : การเพิ่มจำนวนสำนักงานศึกษาธิการภาคจาก 13 ภาค เป็น 18 ภาค มีที่มาจากอะไร
รมว.ศึกษาธิการ :
กระทรวงศึกษาธิการได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทย โดยการจัดรูปแบบตาม 18 ภาคดังกล่าว จะตอบคำถามได้หากการศึกษาในที่ใดที่หนึ่งไม่ดี ก็จะดูว่าอยู่จังหวัดใด เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการปรับปรุงแก้ไข และต้องประสานงานในลักษณะภาคต่อภาค


สื่อมวลชน : โดยสรุปแล้วตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาจะโดนยุบหรือยังคงไว้เช่นเดิม
รมว.ศึกษาธิการ : ตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา จะทำหน้าที่เหมือนเดิมทุกอย่าง ยกเว้นผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 ที่จะมีหน้าที่เพิ่มขึ้นมา ส่วนในกรุงเทพฯ ให้บอร์ดใหญ่ทำหน้าที่เป็น กศจ. คือ บอร์ดที่มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน


สื่อมวลชน : ขณะนี้มีเสียงคัดค้านจากผู้แทนครูที่อยู่ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ หรือไม่
รมว.ศึกษาธิการ :
กระทรวงศึกษาธิการยินดีรับฟังความคิดเห็นของท่านที่ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะไม่เห็นด้วยในประเด็นใด เนื่องจากบางความคิดเห็นมีเหตุมีผล อย่างน้อยความเห็นดังกล่าวก็นำมาอุดช่องว่างได้ หากมีข้อคิดเห็นหรือความเห็นต่างในประเด็นใดให้แจ้งมาเพื่อจะได้นำมาพิจารณาต่อไป


สื่อมวลชน : โครงสร้างใหม่นี้จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของอิทธิพลในวงการครู เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย และจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด
รมว.ศึกษาธิการ : เมื่อยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่แล้ว คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะหมดไป แต่ขอแก้ข่าวที่สื่อบางสำนักลงข่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการตัดตอน จึงขอแจ้งว่าอย่านำไปโยงกับการเมืองซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เป็นเรื่องการศึกษาล้วน ๆ และขอยืนยันว่าการตัดสินใจดำเนินการเช่นนี้ มาจากเสียงสะท้อนของคนในกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมด ไม่ใช่การตัดสินใจดำเนินการของ รมว.ศึกษาธิการ เพียงผู้เดียว
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ : เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดแต่เกิดมาปีกว่าแล้ว และรัฐบาลเหลือเวลาอีก 1 ปีครึ่ง หากไม่ดำเนินการเช่นนี้คงจะยากแก่การแก้ปัญหา ซึ่งได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและมีผลกระทบน้อยที่สุด


สื่อมวลชน : จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคำสั่งดังกล่าวจะทำให้เกิดประสิทธิภาพอย่างที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการบริหารงานบุคคล มีอะไรที่เป็นข้อพิสูจน์
รมว.ศึกษาธิการ : ในวันนี้ยังตอบไม่ได้ แต่คิดดีแล้วจึงได้ดำเนินการ อย่างน้อยจากสภาพที่ประสบอยู่ คาดว่าผลที่ออกมาต้องดีกว่าเดิม เมื่อ คสช.ได้ออกคำสั่งมาทะลุทะลวงปัญหาเดิมที่ค้างอยู่ให้แล้ว กระทรวงศึกษาธิการต้องดำเนินการให้สำเร็จให้ได้


สื่อมวลชน : อำนาจการแต่งตั้งของ กศจ. จะแก้ปัญหาได้ดีกว่าการให้อำนาจนั้นกับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่หรือไม่
รมว.ศึกษาธิการ : โครงสร้างเดิมในบางจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีจำนวนเขตพื้นที่การศึกษามาก การพิจารณาเรื่องต่าง ๆ จะจำกัดอยู่ในเขตพื้นที่ตนเอง ไม่สามารถข้ามเขตได้ แต่โครงสร้างใหม่จะดูภาพใหญ่ขึ้นสามารถดำเนินการโอนย้ายข้ามเขตได้ จึงเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีขึ้น อีกทั้งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนที่ว่างอยู่กว่า 4,000 ตำแหน่ง ขอให้รอดูว่าการขับเคลื่อนตามโครงสร้างใหม่นี้จะได้ผลเพียงใด


สื่อมวลชน : โครงสร้างใหม่จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการวิ่งเต้นโยกย้ายหรือไม่
รมว.ศึกษาธิการ : คาดหวังโครงสร้างใหม่นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่อยากกล่าวโทษรูปแบบเดิมเพราะส่วนที่ดีก็มี


สื่อมวลชน : ต้นทางของโครงสร้างนี้มาจากที่ใด
รมว.ศึกษาธิการ : มาจากคนในกระทรวงศึกษาธิการเองที่ประสบปัญหา รวมทั้งมาจากการรับฟังปัญหาจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาบ้าง ทำให้เกิดการพัฒนาให้เกิดโครงสร้างนี้ขึ้นมา


สื่อมวลชน : ในช่วงที่เป็นสุญญากาศ ณ ตอนนี้ จะส่งผลกระทบต่อบุคคลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาโยกย้ายหรือรอการเรียกบรรจุหรือไม่
รมว.ศึกษาธิการ : ขอให้รอสักระยะหนึ่งประมาณ 7-10 วันในดำเนินการ ยืนยันว่าไม่กระทบบุคคลดังกล่าว เพราะเป็นเพียงการเปลี่ยนอำนาจจาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ มาเป็นอำนาจของ กศจ. เท่านั้น

……………………………………………………….
ที่มา / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 135/2559
แถลงข่าวการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการ ของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค
http://www.moe.go.th/websm/2016/mar/135.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น